วันอาทิตย์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

2.หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
วิสัยทัศน์
          หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งพัฒนาผู้เรียนทุกคนซึ่งเป็นกำลังของชาติให้เป็นมนุษย์ที่มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย ความรู้ คุณธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและเป็นพลโลก ยึดมั่นในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีความรู้และทักษะพื้นฐาน รวมทั้ง เจตคติ ที่จำเป็นต่อการศึกษาต่อ การประกอบอาชีพและการศึกษาตลอดชีวิต โดยมุ่งเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานความเชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ หลักการ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
          1. เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อความเป็นเอกภาพของชาติ มีจุดหมายและมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ ทักษะ เจตคติ และคุณธรรมบนพื้นฐาน ของความเป็นไทยควบคู่กับความเป็นสากล
          2. เป็นหลักสูตรการศึกษาเพื่อปวงชน ที่ประชาชนทุกคนมีโอกาสได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาคและมีคุณภาพ
          3. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่สนองการกระจายอำนาจ ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น
          4. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นทั้งด้านสาระการเรียนรู้ เวลาและการจัดการเรียนรู้
          5. เป็นหลักสูตรการศึกษาที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
          6. เป็นหลักสูตรการศึกษาสำหรับการศึกษาในระบบ นอกระบบ และตามอัธยาศัยครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย สามารถเทียบโอนผลการเรียนรู้ และประสบการณ์

จุดหมาย
          หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีปัญญา มีความสุข มีศักยภาพในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพจึงกำหนดเป็นจุดหมายเพื่อให้เกิดกับผู้เรียนเมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานดังนี้
          1. มีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ เห็นคุณค่าของตนเองมีวินัยและปฏิบัติตนตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือศาสนาที่ตนนับถือ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
          2. มีความรู้ ความสามารถในการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา การใช้เทคโนโลยีและมีทักษะชีวิต
          3. มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี มีสุขนิสัย และรักการออกกำลังกาย
          4. มีความรักชาติ มีจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
          5. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย การอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน และคุณลักษณะอันพึงประสงค์
          ในการพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังนี้ สมรรถนะสำคัญของผู้เรียน หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งให้ผู้เรียนเกิดสมรรถนะสำคัญ                  5ประการ ดังนี้
          1. ความสามารถในการสื่อสาร เป็นความสามารถในการรับและส่งสาร มีวัฒนธรรมในการใช้ภาษาถ่ายทอดความคิด ความรู้ความเข้าใจ ความรู้สึกและทัศนะของตนเองเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและประสบการณ์อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาตนเองและสังคมรวมทั้งการเจรจาต่อรองเพื่อขจัดและลดปัญหาความขัดแย้งต่าง ๆ การเลือกรับหรือไม่รับข้อมูลข่าวสารด้วยหลักเหตุผลและความถูกต้อง ตลอดจนการเลือกใช้วิธีการสื่อสาร ที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่มีต่อตนเองและสังคม
          2. ความสามารถในการคิด เป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดสังเคราะห์ การคิดอย่างสร้างสรรค์ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ และการคิดเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้หรือสารสนเทศเพื่อการตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองและสังคมได้อย่างเหมาะสม
          3. ความสามารถในการแก้ปัญหา เป็นความสามารถในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เผชิญได้อย่างถูกต้องเหมาะสมบนพื้นฐานของหลักเหตุผล คุณธรรมและข้อมูลสารสนเทศ เข้าใจความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ต่าง ๆ ในสังคม แสวงหาความรู้ ประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา และมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเอง สังคมและสิ่งแวดล้อม
          4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต เป็นความสามารถในการนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ใน การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การทำงานและการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยการสร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคล การจัดการปัญหาและความขัดแย้งต่าง ๆ อย่างเหมาะสม การปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อม และการรู้จักหลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น
          5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี เป็นความสามารถในการเลือก และใช้ เทคโนโลยีด้านต่าง ๆ และมีทักษะกระบวนการทางเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาตนเองและสังคม ในด้านการเรียนรู้ การสื่อสาร การทำงาน การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ถูกต้อง เหมาะสม และมีคุณธรรม

          คุณลักษณะอันพึงประสงค์
          หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุขในฐานะเป็นพลเมืองไทยและพลโลก ดังนี้
          1. รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์
          2. ซื่อสัตย์สุจริต
          3. มีวินัย
          4. ใฝ่เรียนรู้
          5. อยู่อย่างพอเพียง
          6. มุ่งมั่นในการทำงาน
          7. รักความเป็นไทย
          8. มีจิตสาธารณะ
          นอกจากนี้ สถานศึกษาสามารถกำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์เพิ่มเติมให้สอดคล้องตามบริบทและจุดเน้นของตนเอง มาตรฐานการเรียนรู้ การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดความสมดุล ต้องคำนึงถึงหลักพัฒนาการทางสมองและพหุปัญญา
          หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงกำหนดให้ผู้เรียนเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ดังนี้
          1. ภาษาไทย
          2. คณิตศาสตร์
          3. วิทยาศาสตร์
          4. สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
          5. สุขศึกษาและพลศึกษา
          6. ศิลปะ
          7. การงานอาชีพและเทคโนโลยี
          8. ภาษาต่างประเทศ ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ได้กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้เป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน มาตรฐานการเรียนรู้ระบุสิ่งที่ผู้เรียนพึงรู้ ปฏิบัติได้ มีคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยม ที่พึงประสงค์เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน นอกจากนั้นมาตรฐานการเรียนรู้ยังเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนพัฒนาการศึกษาทั้งระบบ เพราะมาตรฐานการเรียนรู้จะสะท้อนให้ทราบว่าต้องการอะไร จะสอนอย่างไร และประเมินอย่างไร รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาโดยใช้ระบบการประเมินคุณภาพภายในและการประเมินคุณภาพภายนอกซึ่งรวมถึงการทดสอบระดับเขตพื้นที่การศึกษา และการทดสอบระดับชาติ ระบบการตรวจสอบเพื่อประกันคุณภาพดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสะท้อนภาพการจัดการศึกษาว่าสามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณภาพตามที่มาตรฐานการเรียนรู้กำหนดเพียงใด

ตัวชี้วัด
          ตัวชี้วัดระบุสิ่งที่นักเรียนพึงรู้และปฏิบัติได้ รวมทั้งคุณลักษณะของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น ซึ่งสะท้อนถึงมาตรฐานการเรียนรู้ มีความเฉพาะเจาะจงและมีความเป็นรูปธรรม นำไปใช้ ในการกำหนดเนื้อหา จัดทำหน่วยการเรียนรู้ จัดการเรียนการสอน และเป็นเกณฑ์สำคัญสำหรับการวัดประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพผู้เรียน
          1. ตัวชี้วัดชั้นปี เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนแต่ละชั้นปีในระดับการศึกษาภาคบังคับ (ประถมศึกษาปีที่ 1 มัธยมศึกษาปีที่ 3)

          2. ตัวชี้วัดช่วงชั้น เป็นเป้าหมายในการพัฒนาผู้เรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (มัธยมศึกษาปีที่ 4 - 6) 

หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546
          หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2546 กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้แสดงถึงส่วนต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของหลักสูตรการศึกษาปฐมวัยไว้ดังนี้
          1. ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย เป็นแนวคิด ค่านิยม ความเชื่อที่แสดงให้เห็นถึงแนวทางหรือวิธีการในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ แนวทางในการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมาย เป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งในเด็กปฐมวัยจุดมุ่งหมายหลักคือ การพัฒนาเด็กทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา
          2. หลักการ ที่เป็นส่วนที่แสดงถึงหลักการจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยที่สอดคล้องกับแนวคิดและปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
          3. จุดหมาย ซึ่งถือเป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ที่มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคม และสติปัญญา ที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถ ความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งมีจำนวน 12 มาตรฐาน
          4. คุณลักษณะตามวัย เป็นความสามารถตามวัยหรือพัฒนาการตามธรรมชาติ เมื่อเด็กมีอายุถึงวัยนั้น ๆ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผู้สอนต้องรู้และเข้าใจ เพื่อจะได้จัดประสบการณ์ให้เด็กแต่ละวัยได้ถูกต้อง เหมาะสมและพัฒนาเด็กให้เต็มตามความสามารถและศักยภาพ
          5. ระยะเวลาเรียน เป็นการกำหนดระยะเวลาเรียนที่กำหนดไว้สำหรับสถานศึกษาใช้เป็นเกณฑ์ ซึ่งกำหนดไว้ประมาณ 1-3 ปี การศึกษาโดยประมาณ
          6. สาระการเรียนรู้ กำหนดเป็น 2 ส่วน คือ ประสบการณ์สำคัญ และสาระที่ควรเรียนรู้
          ประสบการณ์สำคัญ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาเด็กทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งช่วยให้เด็กเกิดทักษะที่สำคัญสำหรับการสร้างองค์ความรู้โดยให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับวัสดุ สิ่งของและบุคคลต่าง ๆ รอบตัว รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมไปพร้อม ๆ กัน
          สาระที่ควรเรียนรู้ เป็นเรื่องราวรอบตัวเด็กที่นำมาเป็นสื่อในการจัดกิจกรรมให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ไม่เน้นการท่องจำเนื้อหา แต่ให้เด็กเกิดการเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ โดย ให้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์สำคัญดังกล่าวข้างต้น
          7. แนวทางการจัดประสบการณ์ เป็นคำแนะนำแก่ผู้สอนในหลักการและแนวทางการจัดประสบการณ์และกิจกรรมให้แก่เด็ก
          8. ขอบข่ายกิจกรรมประจำวัน เป็นกิจกรรมที่จะนำมาจัดในแต่ละวัน โดยในแต่ละวันต้องครอบคลุมพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ เล็ก พัฒนาอารมณ์ จิตใจ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาสังคมนิสัย พัฒนาการคิด พัฒนาภาษา และส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
          9. การประเมินพัฒนาการ เป็นการประเมินพัฒนาการทุกด้านอย่างเป็นกระบวนการต่อเนื่องกันในกิจกรรมที่เด็กทำตามปกติ
          10. การจัดหลักสูตรสถานศึกษา เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายและการสร้างหลักสูตรสถานศึกษา     11. การจัดการศึกษาปฐมวัย (เด็กอายุ 3- 5ปี) สำหรับกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็นคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการศึกษาปฐมวัย สำหรับเด็กพิการ เด็กด้อยโอกาส เด็กที่มีความสามารถพิเศษ
          12. การเชื่อมต่อของการศึกษาระดับปฐมวัยกับระดับประถมศึกษาปีที่ 1 เป็นการแนะนำเกี่ยวกับบทบาทของบุคลากรทุกฝ่ายในการสร้างรอยเชื่อมต่อ โดยเฉพาะระหว่างหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย ในช่วงอายุ 3-5 ปี กับหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ช่วงชั้นที่ 1 (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1)

ปรัชญาการศึกษาปฐมวัย
          การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละคน ตามศักยภาพ ภายใต้บริบทสังคม-วัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ ด้วยความรัก ความเอื้ออาทร และความเข้าใจของทุกคนเพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม

หลักการ
          เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการอบรมเลี้ยงดูและส่งเสริมพัฒนาการ ตลอดจนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม ด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับพ่อแม่ เด็กกับผู้เลี้ยงดูหรือบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาเด็กปฐมวัย เพื่อให้เด็กมีโอกาสพัฒนาตนเองตามลำดับขั้นของพัฒนาการทุกด้าน อย่างสมดุล และเต็มศักยภาพ โดยกำหนดหลักการ ดังนี้
          1. ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการที่ครอบคลุมเด็กปฐมวัยทุกประเภท
          2. ยึดหลักการอบรมเลี้ยงดูและให้การศึกษาที่เน้นเด็กเป็นสำคัญ โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล และวิถีชีวิตของเด็กตามบริบทของชุมชน สังคม และวัฒนธรรมไทย
          3. พัฒนาเด็กโดยองค์รวมผ่านการเล่นและกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัย
          4. จัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
          5. ประสานความร่วมมือระหว่างครอบครัว ชุมชน และสถานศึกษาในการพัฒนาเด็ก

จุดหมาย
          หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยสำหรับเด็กอายุ 3 5 ปี มุ่งให้เด็กมีพัฒนาการด้านด้าน ร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ที่เหมาะสมกับวัย ความสามารถและความแตกต่างระหว่างบุคคล จึงกำหนดจุดหมายซึ่งถือเป็นมาตรฐานคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ดังนี้
          1. ร่างกายเจริญเติบโตตามวัย และมีสุขนิสัยที่ดี
          2. กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กแข็งแรง ใช้ได้อย่างคล่องแคล่วและประสานสัมพันธ์กัน
          3. มีสุขภาพจิตดี และมีความสุข
          4. มีคุณธรรม จริยธรรม และมีจิตใจที่ดีงาม
          5. ชื่นชมและแสดงออกทางศิลปะ ดนตรี การเคลื่อนไหว และรักการออกกำลังกาย
          6. ช่วยเหลือตนเองได้เหมาะสมกับวัย
          7. รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และความเป็นไทย
          8. อยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและปฏิบัติตนเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
          9. ใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย
          10. มีความสามารถในการคิดและการแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย
          11. มีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
          12. มีเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และมีทักษะในการแสวงความรู้

สาระการเรียนรู้
          สาระการเรียนรู้ใช้เป็นสื่อกลางในการจัดกิจกรรมให้กับเด็ก เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนาเด็กให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งนี้สาระการเรียนรู้ประกอบด้วย องค์ความรู้ ทักษะหรือกระบวนการ และคุณลักษณะหรือค่านิยม คุณธรรม จริยธรรม ความรู้สำหรับเด็กอายุ 3 5 ปี จะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับตัวเด็ก บุคคลและสถานที่ที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัว และสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเด็กที่เด็กมีโอกาสใกล้ชิดหรือมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวันและเป็นสิ่งที่เด็กสนใจ จะไม่เน้นเนื้อหา การท่องจำ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทักษะหรือกระบวนการ จำเป็นต้องบูรณาการทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับเด็ก เช่น ทักษะการเคลื่อนไหว ทักษะทางสังคม ทักษะการคิด ทักษะการใช้ภาษา คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันควรปลูกฝังให้เด็กเกิดเจตคติที่ดี มีค่านิยมที่พึงประสงค์ เช่น ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น รักการเรียนรู้ รักธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และมีคุณธรรม จริยธรรมที่เหมาะสมกับวัย ผู้สอนหรือผู้จัดการศึกษา อาจนำสาระการเรียนรู้มาจัดในลักษณะหน่วยการสอนแบบบูรณาการหรือเลือกใช้วิธีการที่สอดคล้องกับปรัชญาและหลักการจัดการศึกษาปฐมวัย สาระการเรียนรู้กำหนดเป็น 2 ส่วน คือประสบการณ์สำคัญและ สาระที่ควรเรียนรู้
          1. ประสบการณ์สำคัญ คือการพัฒนาในด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา
          2.สาระที่ควรเรียนรู้
                   1) เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก
                   2) เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก
                   3) ธรรมชาติรอบตัว
                   4) เรื่องต่าง ๆ รอบตัวเด็ก
                    - เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก เด็กควรรู้จักชื่อ นามสกุล รูปร่าง หน้าตาตนเอง รู้จักอวัยวะต่าง ๆ ด้วยตนเอง คนเดียว หรือกับผู้อื่น ตลอดจนเรียนรู้ที่จะแสดงความคิดเห็น ความรู้สึก และมารยาทที่ดี
                   - เรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก เด็กควรได้มีโอกาสรู้จักและรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว สถานศึกษา ชุมชน รวมทั้งบุคคลต่าง ๆ ที่เด็กต้องเกี่ยวข้อง หรือมีโอกาสใกล้ชิดและมีปฏิสัมพันธ์ในชีวิตประจำวัน      
                   - ธรรมชาติรอบตัวเด็กควรจะได้รู้จักสิ่งมีชีวิต ที่เป็นต้นไม้ ดอกไม้ สัตว์ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของโลก ที่แวดล้อมเด็กตามธรรมชาติ เช่น ฤดูกาลกลางวัน กลางคืน ฯลฯ แนวคิดที่ควรให้เกิดหลังจากเด็กเรียนรู้ธรรมชาติรอบตัว
                   - เรื่องต่าง ๆ รอบตัวเด็ก เด็กควรจะได้รู้จักสิ่งของเครื่องใช้ ยานพาหนะ และการสื่อสารต่าง ๆ ที่ใช้อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็ก

การจัดประสบการณ์
          การจัดประสบการณ์สำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 3 5 ปี จะไม่จัดเป็นรายวิชาแต่จัดในรูปของกิจกรรมบูรณาการผ่านการเล่น เพื่อให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง เกิดความรู้ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม รวมทั้งเกิดการพัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา โดยมีหลักการ และแนวทางการจัดประสบการณ์ ดังนี้
          1. หลักการจัดประสบการณ์
                   1.1 จัดประสบการณ์ การเล่น และการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กโดยองค์รวม อย่างต่อเนื่อง
                   1.2 เน้นเด็กเป็นสำคัญ สนองความต้องการ ความสนใจ ความแตกต่าง ระหว่างบุคคลและบริบทของสังคมที่เด็กอาศัยอยู่
                   1.3 จัดให้เด็กได้รับการพัฒนาโดยให้ความสำคัญทั้งกับกระบวนการและผลผลิต
                   1.4 จัดการประเมินพัฒนาการให้เป็นกระบวนการอย่างต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์
                   1.5 ให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาเด็ก
          2. แนวทางการจัดประสบการณ์
                   2.1 จัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับจิตวิทยาพัฒนาการ คือเหมาะสมกับอายุ วุฒิภาวะและระดับพัฒนาการ เพื่อให้เด็กทุกคนได้พัฒนาเต็มตามศักยภาพ
                   2.2 จัดประสบการณ์ให้สอดคล้องกับลักษณะการเรียนรู้ของเด็กวัยนี้คือ เด็กได้ลงมือกระทำ เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้เคลื่อนไหว สำรวจ เล่น สังเกต สืบค้น ทดลอง และคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง                    
                   2.3 จัดประสบการณ์ในรูปแบบบูรณาการ คือ บูรณาการทั้งทักษะและสาระการเรียนรู้
                   2.4 จัดประสบการณ์ให้เด็กได้ริเริ่ม คิด วางแผน ตัดสินใจ ลงมือกระทำ และนำเสนอความคิดโดยผู้สอนเป็นผู้สนับสนุน อำนวยความสะดวก และเรียนรู้ร่วมกับเด็ก
                   2.5 จัดประสบการณ์ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กอื่น กับผู้ใหญ่ ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ในบรรยากาศที่อบอุ่นมีความสุขและเรียนรู้การทำกิจกรรมแบบร่วมมือในลักษณะต่างๆ กัน
                   2.6 จัดประสบการณ์ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อและแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายและอยู่ในวิถีชีวิตของเด็ก
                   2.7 จัดประสบการณ์ที่ส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดีและทักษะการใช้ชีวิตประจำวันตลอดจนสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
                   2.8 จัดประสบการณ์ทั้งในลักษณะที่มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าและแผนที่เกิดขึ้นในสภาพจริงโดยไม่ได้คาดการณ์ไว้
                   2.9 ให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดประสบการณ์ ทั้งการวางแผน การสนับสนุนสื่อการสอน การเข้าร่วมกิจกรรม และการประเมินพัฒนาการ
                   2.10 จัดทำสารนิทัศน์ ด้วยการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กเป็นรายบุคคล นำมาไตร่ตรองและใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเด็กและการวิจัยในชั้นเรียน
           3. การจัดกิจกรรมประจำวัน กิจกรรมสำหรับเด็กอายุ 3 5 ปี สามารถนำมาจัดเป็นกิจกรรมประจำวันได้หลายรูปแบบ เป็นการช่วยให้ทั้งผู้สอนและเด็กทราบว่าแต่ละวันจะทำกิจกรรมอะไร เมื่อใด และอย่างไร การจัดกิจกรรมประจำวันมีหลักการจัดและขอบข่ายของกิจกรรมประจำวัน ดังนี้
                   3.1 หลักการจัดกิจกรรมประจำวัน
                             3.1.1 กำหนดระยะเวลาในการจัดกิจกรรมแต่ละกิจกรรมให้เหมาะสมกับวัยของเด็ก ในแต่ละวัน           
                             3.1.2 กิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด ทั้งในกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ ไม่ควรใช้เวลาต่อเนื่องนานเกินกว่า 20 นาที
                             3.1.3 กิจกรรมที่เด็กมีอิสระเลือกเล่นเสรี เช่น การเล่นตามมุม การเล่นกลางแจ้ง ฯลฯ ใช้เวลาประมาณ 40 60 นาที
                             3.1.4 กิจกรรมควรมีความสมดุลระหว่างกิจกรรมในห้องและนอกห้อง กิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็ก กิจกรรมที่เป็นรายบุคคล กลุ่มย่อย และกลุ่มใหญ่ กิจกรรมที่เด็กเป็นผู้ริเริ่ม และกิจกรรมที่ใช้กำลังและไม่ใช้กำลังจัดให้ครบทุกประเภท ทั้งนี้กิจกรรมที่ต้องออกกำลังกายควรจัดสลับกับกิจกรรมที่ไม่ต้องออกกำลังมากนัก เพื่อเด็กจะได้ไม่เหนื่อยเกินไป
                   3.2 ขอบข่ายของกิจกรรมประจำวัน การเลือกกิจกรรมที่จะนำมาจัดในแต่ละวัน ต้องให้ครอบคลุมสิ่งต่อไปนี้
                             3.2.1 การพัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใหญ่ การเคลื่อนไหวและความคล่องแคล่วในการใช้อวัยวะต่าง ๆ จึงควรจัดกิจกรรม โดยให้เด็กได้เล่นอิสระกลางแจ้ง เล่นเครื่องเล่นสนาม เคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะดนตรี
                             3.2.2 การพัฒนากล้ามเนื้อเล็ก เพื่อให้เด็กได้พัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเล็ก การประสานสัมพันธ์ระหว่างมือและตา จึงควรจัดกิจกรรมโดยให้เด็กได้เล่นเครื่องเล่นสัมผัส เล่นเกมต่อภาพ ฝึกช่วยเหลือตนเองในการแต่งกาย หยิบจับช้อนส้อม ใช้อุปกรณ์ศิลปะ เช่น สีเทียน กรรไกร พู่กัน ดินเหนียว ฯลฯ
                             3.2.3 การพัฒนาอารมณ์ จิตใจ และปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น มีความเชื่อมั่น กล้าแสดงออก มีวินัยในตนเอง รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ประหยัด เมตตากรุณา เอื้อเฟื้อ แบ่งปัน มีมารยาทและปฏิบัติตนตามวัฒนธรรมไทยและศาสนาที่นับถือ จึงควรจัดกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการเล่นให้เด็กได้มีโอกาสตัดสินใจเลือก ได้รับการตอบสนองตามความต้องการ ได้ฝึกปฏิบัติโดยสอดแทรกคุณธรรม จริยธรรม ตลอดเวลาที่โอกาสเอื้ออำนวย
                             3.2.4 การพัฒนาสังคมนิสัยเพื่อให้เด็กมีลักษณะนิสัยที่ดี แสดงออกอย่างเหมาะสมและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันมีนิสัยรักการทำงาน รู้จักระมัดระวังความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น จึงควรจัดให้เด็กได้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวันอย่างสม่ำเสมอ เช่น รับประทานอาหาร พักผ่อนนอนหลับ ขับถ่าย ทำความสะอาดร่างกาย เล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น ปฏิบัติตามกฎกติกาข้อตกลงของส่วนรวม เก็บของเข้าที่เมื่อเล่นหรือทำงานเสร็จ ฯลฯ
                             3.2.5 การพัฒนาการคิด เพื่อให้เด็กได้พัฒนาความคิดรวบยอด สังเกต จำแนก เปรียบเทียบจัดหมวดหมู่ เรียงลำดับเหตุการณ์ แก้ปัญหา จึงควรจัดกิจกรรมให้เด็กได้สนทนาอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิญวิทยากรมาพูดคุยกับเด็ก ค้นคว้าจากแหล่ง ข้อมูลต่างๆ ทดลอง ศึกษานอกสถานที่ ประกอบอาหาร หรือจัดให้เด็กได้เล่นเกมการศึกษาที่เหมาะสมกับวัยอย่างหลากหลาย ฝึกการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันและในการทำกิจกรรมทั้งที่เป็นกลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ หรือรายบุคคล
                             3.2.6 การพัฒนาภาษา เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสใช้ภาษาสื่อสารถ่ายทอดความรู้สึก ความนึกคิดความรู้ความเข้าใจในสิ่งต่างๆที่เด็กมีประสบการณ์จึงควรจัดกิจกรรมทางภาษาให้มีความหลากหลายในสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ มุ่งปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน และบุคลากรที่แวดล้อมต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษาทั้งนี้ต้องคำนึงถึงหลักการจัดกิจกรรมทางภาษาที่เหมาะสมกับเด็กเป็นสำคัญ                                
                            3.2.7 การส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กได้พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและเห็นความสวยงามของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยใช้กิจกรรมศิลปะและดนตรีเป็นสื่อ ใช้การเคลื่อนไหวและจังหวะตามจินตนาการ ให้ประดิษฐ์สิ่งต่าง ๆ อย่างอิสระตามความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ของเด็ก เล่นบทบาทสมมติในมุมเล่นต่าง ๆ เล่นน้ำ เล่นทราย เล่นก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ เช่น แท่งไม้รูปทรงต่าง ๆ ฯลฯ

การประเมินพัฒนาการ
          การประเมินพัฒนาการเด็กอายุ 3 5 ปี เป็นการประเมินพัฒนาการทางด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญาของเด็ก โดยถือเป็นกระบวนการต่อเนื่อง และเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมปกติที่จัดในแต่ละวัน ทั้งนี้ให้มุ่งนำข้อมูลการประเมินมาพิจารณาปรับปรุง วางแผนการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนได้รับการพัฒนาตามจุดหมายของหลักสูตร การประเมินพัฒนาการควรยึดหลัก ดังนี้
          1. ประเมินพัฒนาการของเด็กครบทุกด้านและนำผลมาพัฒนาเด็ก
          2. ประเมินเป็นรายบุคคลอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดปี
          3. สภาพการประเมินควรมีลักษณะเช่นเดียวกับการปฏิบัติกิจกรรมประจำวัน
          4. ประเมินอย่างเป็นระบบ มีการวางแผน เลือกใช้เครื่องมือและจดบันทึกไว้เป็นหลักฐาน
          5. ประเมินตามสภาพจริงด้วยวิธีการหลากหลายเหมาะสมกับเด็ก รวมทั้งใช้แหล่งข้อมูลหลาย ๆ ด้าน ไม่ควรใช้การทดสอบ สำหรับวิธีการประเมินที่เหมาะสมและควรใช้กับเด็กอายุ 3-5 ปี ได้แก่ การสังเกต  การบันทึกพฤติกรรม การสนทนา การสัมภาษณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลจากผลงานเด็กที่เก็บอย่างมีระบบ

ข้อมูลจาก

http://www.educ-bkkthon.com/blog/kesorn/wp-content/uploads/2014/01/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88-4-%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B9%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%A2-%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%A8%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%8A-2546.docx


16. ปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาหลักสูตร


ปัญหาการพัฒนาหลักสูตรไทย
          1. ปัญหาการขาดครูที่มีคุณสมบัติเหมาะสม
          2. ปัญหาการไม่ยอมรับและไม่เปลี่ยนแปลงบทบาทการสอนของครู
          3. ปัญหาการจัดอบรมครู
          4. ศูนย์การพัฒนาหลักสูตร ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน
          5. ขาดการประสานงานที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ
          6. ผู้บริหารต่างๆ ไม่สนใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตร
          7. ปัญหาการขาดแคลนเอกสาร

ปัญหาหลักสูตรในการศึกษาปฐมวัย
การเรียนการสอนจะเน้นสอนเนื้อหาวิชาตามหลักสูตรมากกว่าการพัฒนาการเด็ก ทำให้เด็กเกิดความเครียด
- การไม่ได้ใช้ประโยชน์จากหลักสูตรอย่างเต็มที่
- แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้หลักสูตรยังขาดความเป็นเอกภาพ

ปัญหาหลักสูตรในการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- การจัดโครงสร้างหลักสูตรใหม่ทำให้ครูต้องสอนเนื้อหาหนักมากขึ้น และผู้เรียนต้องเรียนหนักมากขึ้น
- สถานศึกษาจัดทำเองไม่มีความชัดเจกรมวิชาการและกรมเจ้าสังกัดมีจุดเน้นที่ไม่ตรงกัน
 - มีเสียงสะท้อนว่านโยบายการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ที่ให้โรงเรียนจัดทำเองไม่มีความชัดเจน
- ทำให้ครูเกิดความสับสน

ปัญหาหลักสูตรการอาชีวศึกษา
          ผู้เข้าเรียนในการอาชีวศึกษาไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรหลักสูตรก่อนถึงระดับ ปวช. คือระดับมัธยมต้น หรือการศึกษาผู้ใหญ่เป็นการปูพื้นฐานความรู้ระดับต่ำ เช่น อ่าน สะกดคำไม่ได้ ขาดความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ เมื่อมาเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาจึงเกิดปัญหา แม้ครูจะเตรียมการสอนดีอย่างไร ผู้เรียนไม่สามารถต่อยอดความรู้ได้ เพราะพื้นฐานความรู้ไม่ดีเพียงพอ

การจัดหลักสูตรสำหรับผู้ด้อยโอกาส
- ยังไม่เหมาะสม เพราะหลักสูตรยังยึดวิธีการแบบเก่าๆไม่สนองความต้องการและความสนใจและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ด้อยโอกาสในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย

สภาพและปัญหาของหลักสูตร
1. การกระจายโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา
2. คุณภาพการศึกษา
3. หลักสูตรและการเรียนการสอน
4. การบริหารและการจัดการศึกษา
5. งบประมาณและการลงทุนทางการศึกษา
6. คุณภาพของผู้สำเร็จการศึกษา
7. แนวโน้มผู้เข้าเรียน

แนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรประถมศึกษา
          การศึกษาสำหรับเด็กเล็ก และก่อนประถมศึกษาจะขยายตัวมากกว่าระดับอื่น
- การเพิ่มคุณภาพของครูประถม
- การเพิ่มงบประมาณ การปรับปรุงคุณภาพ และหลักสูตรโดยเน้นการประกอบอาชีพ
- การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น
- การยุบโรงเรียนรวมเข้าด้วยกันแทนการสร้างโรงเรียนแห่งใหม่

แนวโน้มการพัฒนาหลักสูตรมัธยมศึกษา
- เป็นบุคคลที่มีความสามารถในการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร
- มีความสามารถใช้เทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมทักษะการทำงานและการดำเนินชีวิต
- มีความสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับคนอื่นได้
- มีแนวทางที่จะเลือกดำเนินชีวิต
- มีความสามารถพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของตนเองให้เจริญถึงขีดสุด
- มีความสามารถที่จะนำตนเองได้ การควบคุมตนเองได้
- มีโลกทัศน์ที่กว้างและมีน้ำใจแบบนานาชาติรวมทั้งมีค่านิยมและความสำนึกในความเป็นชาติไทยของตน
- มีค่านิยมคุณธรรมและจริยธรรม
- มีสุนทรียภาพในการดำเนินชีวิต

สภาพปัญหาการพัฒนาหลักสูตรของอุดมศึกษา
- ขาดแคลนอาจารย์ประจำที่มีคุณวุฒิและประสบการณ์โดยเฉพาะสาขาวิชาที่มีความต้องการมากทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรกรรม
- อุดมศึกษามุ่งความเป็นเลิศทางวิชาการ ละเลยคุณธรรม จริยธรรม การบริการวิชาการแก่สังคม
- มหาวิทยาลัยมักเลียนแบบต่างประเทศโดยไม่เข้าใจ หลักการและเป้าหมายที่แท้จริงของหลักการที่เลียนแบบ - การเรียนการสอนยังเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติเน้นความรู้มากกว่าการนำไปใช้
- การตื่นตัวทางการวิจัยมุ่งการกำหนดให้เลื่อนตำแหน่งทางวิชาการซึ่งเน้นการวิจัยมากเกินไปจนทำให้ลดความสำคัญด้านการสอน
- กลุ่มผู้บริหารอุดมศึกษามีลักษณะอนุรักษ์นิยมสูง
- งบประมาณในการพัฒนาการศึกษาระดับนี้ก็ยังมีไม่เพียงพอ

แนวโน้มสำคัญของการศึกษาไทยใน 5 ปีข้างหน้า
- มุ่งพัฒนาหลักสูตรใหม่ ๆ อาทิ หลักสูตรที่บูรณาการระหว่างสองศาสตร์ขึ้นไป เช่น ระดับอาชีวศึกษา หลักสูตรเดียวจะมีหลายสาขาวิชาเรียนช่างยนต์ จะผนวกการตลาดและการบัญชีเข้าไปด้วยเป็นต้น หลักสูตรที่ให้ปริญญาบัตร 2 ใบ และมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยตลอดเวลา
- หลักสูตรนานาชาติมีแนวโน้มมากขึ้น เนื่องจากสภาพยุคโลกาภิวัตน์ที่มีการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุน
- การจัดการศึกษามีความเป็นสากลมากขึ้นสภาพโลกาภิวัฒน์ที่มีการเชื่อมโยงในทุกด้านร่วมกันทั่วโลก
- ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสทางการศึกษาลดลง
- โอกาสรับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น


ที่มา http://www.gotoknow.org/posts/543276