การประเมินผลหลักสูตร:
ทฤษฎี แนวคิดและรูปแบบ
ไทเลอร์ได้กล่าวถึงคำถามพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตรเกี่ยวกับการประเมินหลักสูตรว่า
เป็นการประเมินทั้งหลักสูตรและผลการเรียนรู้ของหลักสูตร
ซึ่งเกี่ยวข้องกับประสิทธิผลของประสบการณ์ในการเรียนรู้
ออร์นสไตน์ฮันกิน (Ornstein
and Hunkins. 1998: 320) นิยามคำว่า การประเมินหลักสูตรคือ
กระบวนการหรือชุดของกระบวนการที่จัดทำขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูล ตัดสินใจยอมรับ
เปลี่ยนแปลง แก้ไขบางสิ่งบางอย่างที่ใช้ในหลักสูตร
โอลิวา (Oliva.2001) นิยามคำว่า การประเมินหลักสูตรคือกระบวนการในการพิจารณา
ตัดสินใจในทางเลือกต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบักสูตร
ปรับเปลี่ยนหลักสูตรหรือยกเลิกหลักสูตร
โดยสรุปแล้ว การประเมินหลักสูตร หมายถึง
กระบวนการการเก็บรวบรวมข้อมูลและการประมวลผลข้อมูลเพื่อนำมาตัดสินใจเกี่ยวกับคุณภาพทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของหลักสูตร
รวมถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของหลักสูตร
ซึ่งแนวคิดการประเมินหลักสูตรประกอบไปด้วย
1. การประเมินเป็นเรื่องของการตัดสินใจ
2. การประเมินมีเกณฑ์ที่ชัดเจน
3.
เกณฑ์การประเมินต้องครอบคลุมและเหมาะสมกับเนื้อหา
4.
เกณฑ์การประเมินต้องสอดคล้องกับแนวคิดแบบจำลองเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ
แนวคิดการประเมินหลักสูตร
1. การประเมินตามจุดประสงค์ (Goal-based)
เป็นการประเมินตามจุดประสงค์ของการศึกษา
2. การประเมินที่ไม่ยึดจุดประสงค์ (Goal-free)
เป็นการประเมินจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมด
3. การประเมินตามหน้าที่ (Responsive)
เป็นการประเมินตามหน้าที่ที่ผู้เรียนได้รับ
โดยแต่ละบุคคลได้ทำตามหน้าที่ของตนเองหรือไม่
4. การประเมินที่มุ่งการตัดสินใจ (The
decision-making) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการดำเนินการหลักสูตรต่อหรือยุติ
5. การประเมินเพื่อการรับรอง (The
accreditation)
เบรมเลย์และนิวบี้
ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตรไว้ 5 ข้อคือ
1. ผลย้อนกลับ
เป็นการเชื่อมโยงผลการเรียนรู้กับวัตถุประสงค์
2. การควบคุม
เป็นการเชื่อมโยงจากการฝึกอบรมสู่การปฏิบัติงานในองค์กร
สู่การพิจารณาประสิทธิภาพสูงสุด
3. การค้นคว้า วิจัย
4. การแทรกแซง
ผลการประเมินจะมีผลต่อสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
5. อำนาจการแข่งขัน
จัดการข้อมูลการประเมินเพื่อเพิ่มอำนาจขององค์กร
การประเมินหลักสูตรก่อน
ระหว่างและหลังการนำหลักสูตรไปใช้
การประเมินหลักสูตรประกอบไปด้วย 3
รูปแบบใหญ่ๆคือ
1.
การประเมินหลักสูตรก่อนนำหลักสูตรไปใช้ เป็นการตรวจสอบหลักสูตรว่าสามารถตอบสนองเป้าหมายของผู้เรียนได้หรือไม่
มีจุดมุ่งหมายคือ ประเมินเอกสารและคุณค่าของหลักสูตร โดยวิชัย วงษ์ใหญ่ (2554:
122-125) สรุปขั้นตอนการประเมินหลักสูตรในรูปแบบดังกล่าวไว้ 4
ขั้นตอนคือ
1)
กำหนดจุดมุ่งหมายของการประเมินหลักสูตร
2) วางแผนดำเนินการประเมิน
3) ทดลองใช้หลักสูตรฉบับร่าง
4) ประเมินผลทดลองใช้
นำผลมาวิเคราะห์ปรับปรุงก่อนนำไปใช้จริง
2.
การประเมินหลักสูตรระหว่างดำเนินการใช้หลักสูตร เป็นการประเมินที่ให้ความสำคัญกับระบบบริหารการจัดการหลักสูตร
กระบวนการเรียนการสอน การนิเทศติดตาม งานบริหารบุคคล
งานงบประมาณการประเมินผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร การออกแบบการเรียนการสอน
การเขียนแผนและการวัดประเมินผลการเรียนรู้
โดยมีเครื่องมือวัดผลความก้าวหน้าของผู้เรียน (ก่อนเรียน – ระหว่างเรียน – หลังเรียน)
และมีจุดมุ่งหมายคือ การประเมินการนำไปใช้และผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตร ซึ่ง วิชัย
วงษ์ใหญ่ (2554: 125 – 128) เสนอแนวคิดเกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวไว้
3 ประเด็นคือ
1)
การประเมินระบบบริหารและการจัดการหลักสูตร
2)
การประเมินการจัดกระบวนการเรียนการสอน
3) การประเมินระบบบริหารและวิธีการนิเทศกำกับดูแล
3.
การประเมินหลักสูตรหลังนำหลักสูตรไปใช้ เป็นการประเมินที่มีความสมบูรณ์และสลับซับซ้อนมาก
เป็นการประเมินทุกๆองค์ประกอบของหลักสูตร และความเกี่ยวข้องอื่นๆของหลักสูตรด้วย
เช่น ทรัพยากร ระบบบริหาร ระบบการจัดการเรียนการสอน เป็นต้น
ซึ่งเป็นการประเมินที่ครอบคลุมมากที่สุด
โดยมีจุดมุ่งหมายคือการประเมินระบบหลักสูตร
การประเมินความก้าวหน้าและการประเมินสรุป
สคิเวน (Scriven.
1967) เป็นผู้ริเริ่มการใช้ Formative evaluation และ Summative evaluation โดยมีวิธีการดำเนินการดังต่อไปนี้
1. การประเมินระหว่างโครงการ (Formative
evaluation) เป็นการประเมินในระหว่างที่โครงการกำลังดำเนินการอยู่
ข้อมูลจะถูกเก็บรวบรวมระหว่างการพัฒนาหลักสูตรเพื่อประโยชน์ในการปรับปรุง
เป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับในวงจรการพัฒนาเพื่อปรับปรุงผลผลิต ซึ่งประกอบไปด้วย
1)
การประเมินด้วยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
2) การประเมินแบบหนึ่งต่อหนึ่ง
การประเมินแบบกลุ่มย่อย
3) การประเมินแบบการลองภาคสนาม
4)
การประเมินด้วยความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ
2. การประเมินผลสรุป (Summative
evaluation) เป็นการประเมินเมื่อสิ้นสุดโครงการแล้ว
โดยจะเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อสิ้นสุดการใช้หลักสูตร
โดยส่วนสำคัญที่สุดคือผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ของโครงการ
เป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่
โดยการรวบรวมข้อมูลจากการประเมินความก้าวหน้ามาช่วยในการตัดสินใจในการประเมินผลสรุป
การประเมินหลักสูตรเพื่อการพัฒนา
แกลทธอร์น (Glatthorn,
2009) เสนอรูปแบบการประเมินหลักสูตรเพื่อการพัฒนา โดยใช้ชื่อว่า “Evaluating
a Field of Study (EFS)” โดยมี 5 ขั้นตอนคือ
1. ขั้นเตรียมการประเมินหลักสูตร (Preparing
for the evaluation) ในขั้นนี้ประกอบไปด้วย
- การเลือกหัวหน้าทีมเพื่อการประเมินหลักสูตร
- การกำหนดเป้าหมายในการประเมินหลักสูตร
- การเตรียมเอกสารการประเมินหลักสูตร
2. ขั้นประเมินบริบทของหลักสูตร (Assessing
the context) เป็นการศึกษาสภาพบริบทของหลักสูตรที่ใช้
ซึ่งผู้ประเมินต้องมีความเข้าใจสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่เพราะอาจจะทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้
ผู้ประเมินต้องตอบคำถามว่าหลักสูตรนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นหรือไม่
จำเป็นต้องให้ผู้เรียนเรียนหรือไม่
3. ขั้นกำหนดประเด็นการประเมิน (Identifying
the evaluation issues) เป็นขั้นตอนที่สืบเนื่องมากจากการประเมินก่อนนำไปใช้
เป็นการจัดเตรียมประเด็นคำถามในการประเมินให้ครอบคลุมเพื่อเก็บข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้หลักสูตร
4. ขั้นออกแบบการประเมินหลักสูตร
(Developing the curriculum design) เมื่อได้กำหนดประเด็นการประเมินเรียบร้อยแล้ว หัวหน้าที่จากการคัดเลือกจะเป็นผู้นำทีมในการออกแบบประเมินหลักสูตร
โดยอาศัยแนวคิดของเวอร์เทิน (Worthen, 1981) ซึ่งกำหนดประเด็นการประเมินประกอบด้วย
- ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
-
การเลือกแบบทดสอบเพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์
- คุณค่าจากการวัดและประเมินผล
- การจัดการเรียนการสอน
5. ขั้นนำแบบประเมินไปใช้ (Implementing
the evaluation design) คณะผู้ประเมินจะเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือที่ออกแบบและพัฒนาเรียบร้อยแล้ว
ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลและเขียนรายงานการประเมิน โดยต้องคำนึงถึง
ความยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนระหว่างการประเมินเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
รวมถึงผลการประเมินต้องเกิดประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด
แบบจำลองในการประเมินหลักสูตร
1. แบบจำลองการประเมินแบบ CIPP
แบบจำลองดังกล่าวเป็นแนวความคิดของสตัฟเฟิลบีม
(Daniel
L.Stufflebeam. 1985) เป็นแบบจำลองเพื่อตัดสินว่าจะยุติหรือดำเนินโครงการต่อไป
โดยสตัฟเฟิลบีม ได้กำหนดประเด็นการประเมินออกเป็น 4 ขั้นตอนคือ
1)
การประเมินสภาวะแวดล้อม (Context Evaluation: C)
เป็นการประเมินโครงการ มีประเด็นการพิจารณา
หลักการและเหตุผล ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการ
ประเด็นปัญหาและความเหมาะสมของเป้าหมายโครงการ
2)
การประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation: I)
เป็นการประเมินโครงการ มีประเด็นการพิจารณา
การเลือกแผนงานโครงการจากปัจจัยนำเข้า เช่น งบประมาณ บุคลากร วัสดุ อุปกรณ์
เทคโนโลยี เป็นต้น
3)
การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation: P)
เป็นการประเมินโครงการ มีประเด็นการพิจารณาเพื่อหาจุดเด่นจุดด้อยและข้อบกพร่องของกระบวนการดำเนินโครงการ
เพื่อพัฒนา ปรับปรุง แก้ไข โดยมีการบันทึกหลักฐานไว้ทุกขั้นตอน
4)
การประเมินผลผลิต (Product Evaluation: P)
เป็นการประเมินโครงการ
มีประเด็นการพิจารณาเปรียบเทียบผลผลิตจากโครงการทั้งผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้
รวมถึงการยุบ เลิก ขยาย ปรับเปลี่ยนโครงการ
โดยสนใจเรื่องของผลกระทบและผลลัพธ์ของโครงการ
2. แบบจำลองการประเมิน Countenances
โรเบิร์ต อี สเต็ค (Robert E. Stake) ได้เสนอรูปแบบการประเมินนี้เมื่อปี ค.ศ.1967
โดยได้ให้ความสำคัญกับข้อกล่าวอ้างประโยชน์ ข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับโทษ ผลเสีย
ประเมินปัญหาความขัดแย้งต่างๆ
ของผู้ส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับการประเมิน โดยประกอบด้วยกิจกรรมหลัก
2 ประการคือ
1)
การบรรยาย เป็นการอธิบายลักษณะของข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยเบื้องต้น กระบวนการและผลผลิต
2) การตัดสินใจ
เป็นการตัดสินคุณค่าหรือคุณภาพของโครงการ
โดยนำข้อมูลจากการบรรยายมาเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน
การตัดสินคุณค่าหรือคุณภาพหลักสูตร
ทาสเสน-เบสกา และสแตมบ็อจฮ์ (Van
Tassel-Baska, J., & Stambaugh, T. 2006: 43) ได้เสนอแนวทางที่เป็นประเด็นในการตัดสินคุณค่าและคุณภาพหลักสูตรไว้ดังนี้
1. ความเหมาะสมกับผู้เรียน
หลักสูตรมีความชัดเจนกับความต้องการผู้เรียน
2. ความหลากหลาย มีแนวทาง
ทางเลือกให้บรรลุผลของกรอบดำเนินการ
3. ความใจกว้าง
4. บูรณาการ เน้นทั้งเรื่องสติปัญญาและอารมณ์
รวมถึงความคิดระดับสูง
5. การเรียนรู้เนื้อหาสาระสำคัญ
6. ความเป็นอิสระ ไม่พึ่งพาใคร
เรียนรู้แบบนำตนเอง
7. ความซับซ้อนของความรู้ ให้ผู้เรียนได้เรียนทฤษฎี
ผังมโนทัศน์ต่างๆ
8. การถ่ายโอน
มีการถ่ายโอนความรู้ทั้งภายในและภายนอกกลุ่มสาระของความรู้
9. ความลุ่มลึก
ใช้ความคิดและทักษะการแก้ปัญหาตามประเด็นที่กำหนด
10. ตัวเลือก
ผู้เรียนตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมและภาระด้วยวิธีการที่ผู้เรียนจะประสบความสำเร็จ
11. ความคิดสร้างสรรค์
ทำกิจกรรมและโครงงาน มีกระบวนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
12. ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในชั้นเรียน
ผู้เรียนเรียนรู้จากเพื่อนคนอื่นๆ ที่มีความสนใจ ทำงานร่วมกัน
13. ความเข้าใจตนเองและสังคม
มีโอกาสที่จะพัฒนา ตรวจสอบค่านิยมส่วนบุคคลและความเชื่อในหลักสูตร
14. ทักษะการสื่อสาร มีทักษะในการพูด
เขียน แสดงความคิด แลกเปลี่ยนเรียนรู้
15. ช่วงเวลา
มีตารางเรียนที่สอดคล้องกับผู้เรียนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
16. แหล่งทรัพยากรที่หลากหลาย
ใช้ประโยชน์จากสื่อ กระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน
การประเมินการเรียนรู้
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554:
117) อธิบายว่า
การประเมินการเรียนรู้และการประเมินหลักสูตรมีความสัมพันธ์กัน
การประเมินการเรียนรู้เป็นกระบวนการตัดสินคุณค่าของศักยภาพการเรียนรู้และการปฏิบัติของผู้เรียน
ส่วนการประเมินหลักสูตร หมายถึง การรวบรวมข้อมูลหลักฐานและตัดสินคุณค่าเกี่ยวกับหลักสูตร
เป็นการประเมินหลักสูตรระบบ
การวัดและประเมินผลการเรียนรู้
การบูรณาการการประเมินผลกับกระบวนการเรียนการสอนเป็นตามขั้นตอนดังนี้
1. การแบ่งประเภทของจุดประสงค์การสอน
โดยจะส่งผลกับพัฒนากระบวนการเรียนการสอน
ซึ่งควรจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของผู้เรียนทั้ง 3 ด้านคือ พุทธพิสัย
จิตพิสัยและทักษะพิสัย
2. การประเมินผู้เรียนก่อนเรียน
เป็นการประเมินความสามารถ พื้นฐาน ความสนใจของผู้เรียน
เพื่อครูผู้สอนสามารถวางแผนและจัดเนื้อหา บทเรียน ให้เหมาะสมกับผู้เรียน
3. ให้กิจกรรมการสอนที่สัมพันธ์กับหัวข้อที่เรียน
เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวังและตรวจสอบได้ว่าผู้เรียนได้เรียนรู้บทเรียนไปมากเพียงใด
มีจุดอ่อนตรงไหนบ้าง
4. ระบุผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
ใช้เพื่อระบุว่าผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ถึงระดับไหน
หลักการประเมินผลการเรียนรู้
1. ยึดตามจุดประสงค์การสอนที่ชัดเจน
2.
ขั้นตอนและเทคนิคในการประเมินผลควรเลือกตามจุดประสงค์ในการประเมิน
3. การประเมินควรเข้าใจง่าย
ครอบคลุมองค์ประกอบต่างๆของผู้เรียนอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงแต่ความรู้
รวมไปถึงทักษะด้านจิตใจ พฤติกรรม การปฏิบัติ
4. ควรประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
5.
การประเมินผลควรระบุจุดอ่อนและจุดแข็งที่สามารถนำไปใช้งานได้
6.
การประเมินผลควรเป็นความพยายามร่วมกัน ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง ทั้งผู้บริหาร ครู
ผู้ปกครอง ผู้เรียน ชุมชน สังคม
7. การประเมินผลควรมีความรอบคอบ
เพื่อให้เกิดความยุติธรรม เที่ยงตรง
หลักการประเมินผลที่ดี
1. มีเป้าหมายในการปฏิบัติชัดเจน ได้แก่
เป้าหมาย เกณฑ์การวัด เกณฑ์มาตรฐาน
2.
ให้เวลาและความพยายามกับการเรียนรู้สิ่งที่ท้าทาย
3. ให้ข้อมูลย้อนกลับที่มีคุณภาพสูง
ผู้เรียนสามารถตรวจสอบความถูกต้องได้เอง
4. สร้างแรงบันดาลใจ
ความเคารพตนเองในทางบวก
5.
สนับสนุนการมีปฏิสัมพันธ์ในห้องเรียนของทุกฝ่าย
6.
อำนวยความสะดวกในการประเมินตนเองและสะท้อนความคิด
7.
ให้โอกาสผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน
8.
ในผู้เรียนมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการประเมินผลและการปฏิบัติ
9. สนับสนุนชุมชนแห่งการเรียนรู้
10. ช่วยให้ครูผู้สอนปรับวิธีสอนเพื่อตอบสนองความต้องการของนักเรียน
การประเมินแบบต่างๆ
1. แบบประเมินตามสภาพจริง (Authentic
Test)
2. แบบสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้
3. แฟ้มสะสมผลงาน
4. การประเมินตามหลักสูตร (Curriculum
Base Assessment: CBA)
การกำหนดเกณฑ์การประเมินการเรียนรู้และระดับคุณภาพการเรียนรู้ด้วย
SOLO
Taxonomy
SOLO Taxonomy เป็นชุดของเกณฑ์การประเมินผลการเรียนรู้ที่เป็นผลงานของ
Biggs and Collis (1982) ซึ่งมาจากคำว่า Structure of
Observed Learning Outcome เป็นระบบที่ช่วยอธิบายความซับซ้อนของพัฒนาการผู้เรียนที่ไม่ได้มุ่งเน้นแต่การสอนและการให้คะแนนจากผลงาน
แต่รวมไปถึงพัฒนาการในด้านต่างๆ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง โดยแบ่งออกเป็น 5
ระดับโครงสร้างดังต่อไปนี้
1. ระดับโครงสร้างขั้นพื้นฐาน (Pre-structural)
นักเรียนได้รับข้อมูลเป็นส่วนๆ ที่ไม่ปะติดปะต่อกัน
ไม่มีการจัดการข้อมูลและความหมายโดยรวมของข้อมูลไม่ปรากฏ
2. ระดับโครงสร้างเดี่ยว (Uni-structural)
ผู้เรียนเชื่อมโยงข้อมูลพื้นฐาน ง่ายต่อการเข้าใจ
แต่ไม่แสดงความหมายของความเกี่ยวโยงข้อมูล (ท่องจำ ระบุ
คำนวณ)
3. ระดับโครงสร้างหลากหลาย (Multi-structural)
ผู้เรียนเชื่อมโยงข้อมูลหายๆชนิดเข้าด้วยกัน
ความหมายของความสัมพันธ์ระหว่างความเกี่ยวโยงข้อมูลไม่ปรากฏ (บรรยาย รวมกัน จัดลำดับ)
4. ระดับความสัมพันธ์ของโครงสร้าง (Relational
Level) ผู้เรียนแสดงความสัมพันธ์ของความเกี่ยวโยงของข้อมูลและภาพรวมทั้งหมดได้
(อธิบาย วิเคราะห์ เปรียบเทียบ)
5.
ระดับแสดงความต่อเนื่องในโครงสร้างภาคขยาย (Extended
Abstract Level) ผู้เรียนเชื่อมโยงข้อมูลนอกเหนือจากหัวข้อที่ได้รับ
ผู้เรียนสามารถสรุปและส่งผ่านความสำคัญและแนวคิดที่ซ่อนอยู่ภายใต้กรณีตัวอย่าง (อภิปราย สร้างทฤษฎี ทำนาย พยากรณ์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น