ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น
การนำหลักสูตรแม่บทมาปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่นเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงอันจะนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในการดำเนินชีวิตโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ฉบับปรับปรุง
แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) พ.ศ. 2545
(สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา 2547:
15) ให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทย ความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพตลอดจนการศึกษาต่อ
ดังนั้นสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องจัดทำสาระของหลักสูตรในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ ดังนั้นนอกจากโรงเรียนจะจัดเป็นหลักสูตรสถานศึกษาแล้ว ยังต้องเพิ่มหลักสูตรท้องถิ่นที่สนองตอบต่อความต้องการของท้องถิ่นที่โรงเรียนอยู่อีกด้วย
ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่นคือ “การดำเนินงานจัดทำ
ขยายเพิ่มเติมเรื่องที่จำเป็นและสำคัญที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพิ่มเติมตามความต้องการของท้องถิ่น
โดยไม่กระทบต่อหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 แต่เป็นการเสริมสร้างต่อยอดให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เต็มตามศักยภาพและนำไปสู่มาตรฐานของหลักสูตร”
ลักษณะการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น 3 ประเภท คือ
หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาโดยท้องถิ่นเองทั้งหมดแต่ต้องเป็นไปตามนโยบายที่ส่วนกลางได้กำหนดไว้ (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544)
หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาขึ้นจากหลักสูตรแม่บทที่ส่วนกลางจัดทำ ส่วนกลางของรัฐจัดทำหลักสูตรแม่บทและเว้นที่ว่างให้ท้องถิ่นมีเสรีภาพในการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น โดยหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 มีแนวทางการพัฒนาได้เป็น 2 กรณีคือ
1) หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาโดยบางส่วนของหลักสูตรแม่บทกล่าวคือเป็นการปรับองค์ประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของหลักสูตรแม่บทเช่น
ปรับรายละเอียดของสาระการเรียนรู้ เพิ่มเติมกระบวนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นทั้งนี้ยังยึดมาตรฐานของหลักสูตรแม่บทอยู่
2) หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาขึ้นเป็นรายวิชาใหม่หรือการสร้างหลักสูตรย่อยเพื่อเสริมหลักสูตรแม่บทโดยให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นทั้งนี้สามารถจัดทำมาตรฐานการเรียนรู้เพิ่มเติมจากมาตรฐานของหลักสูตรแม่บท
หลักสูตรท้องถิ่นที่พัฒนาสำหรับท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นหลักสูตรที่หน่วยงานในท้องถิ่นพัฒนาเป็นหลักสูตรเฉพาะกิจและเป็นหลักสูตรระยะสั้น
ๆ เพื่อใช้กับชุมชนหรือท้องถิ่นตามความต้องการและความสมัครใจของผู้เรียนรวมทั้งความสอดคล้องกับสภาพสังคม
เศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่นหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น อาทิหลักสูตรซ่อมเครื่องยนต์
หลักสูตรทำขนม หลักสูตรการทำอาหารเป็นต้น
ความจำเป็นของการมีหลักสูตรท้องถิ่น
ความจำเป็นของการมีหลักสูตรท้องถิ่นก็เนื่องจากหลักสูตรแกนกลางซึ่งเป็นหลักสูตรระดับชาติไม่สามารถตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง
อันเนื่องมาจากความต้องการของแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน
จึงต้องมีการนำหลักสูตรระดับชาติมาปรับให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น โรงเรียนแต่ละแห่งมีหน้าที่จัดการศึกษาให้เหมาะสมกับชุมชนนั้นๆ
เพราะชุมชนแต่ละชุมชนมีสภาพปัญหาและความต้องการแตกต่างกันท้องถิ่นควรต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของตนเอง
แนวทางในการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น
ในการพัฒนาหลักสูตรตามความต้องการของท้องถิ่นนั้น
สถานศึกษาสามารถดำเนินการได้ในลักษณะต่อไปนี้
1.
ปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือจัดกิจกรรมเสริม
ในแต่ละกลุ่มวิชาในทุกระดับชั้นโดยปรับปรุงจากหลักสูตรแกนกลางโดยไม่ทำให้จุดประสงค์ของหลักสูตรเปลี่ยนแปลง
2. ปรับรายละเอียดของเนื้อหาโดยเพิ่มหรือลดรายละเอียดจากหลักสูตรแกนกลาง
3. ปรับปรุงหรือเลือกใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับท้องถิ่น
4. จัดทำสื่อการเรียนการสอนขึ้นมาใหม่ เช่นหนังสือเรียน คู่มือครู
หนังสือเสริมประสบการณ์แบบฝึกหัดหรือสื่ออื่น ๆ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับจุดประสงค์
เนื้อหาและสภาพท้องถิ่นโดยสื่อเหล่านี้อาจใช้กับเนื้อในรายวิชาที่มีอยู่เดิมหรือรายวิชาใหม่ที่พัฒนาขึ้นก็ได้
5. จัดทำคำอธิบายรายวิชาเพิ่มเติมจากที่ปรากฏในหลักสูตรแกนกลาง
ทั้งนี้คำอธิบายรายวิชาที่จัดทำขึ้นต้องสอดคล้องกับจุดประสงค์เนื้อหาและความต้องการของท้องถิ่น
ขั้นตอนในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในการนั้นสามารถดำเนินการได้ทั้งในระดับโรงเรียนกลุ่มโรงเรียน ระดับอำเภอ
ระดับจังหวัดและระดับเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งได้มีนักวิชาการได้เสนอไว้ 12 ขั้นตอนดังนี้
ขั้นที่ 1 จัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำหลักสูตร
ขั้นที่ 2 ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
ขั้นที่ 3 กำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตร
ขั้นที่ 4 กำหนดเนื้อหา
ขั้นที่ 5 กำหนดกิจกรรม
ขั้นที่ 6 กำหนดชั่วโมงการเรียน
ขั้นที่ 7 กำหนดเกณฑ์การวัดและประเมินผล
ขั้นที่ 8 จัดทำเอกสารหลักสูตร
ขั้นที่ 9 ตรวจสอบคุณภาพและการทดลองใช้หลักสูตร
ขั้นที่ 10 เสนอขออนุมัติใช้หลักสูตร
ขั้นที่ 11 นำหลักสูตรไปใช้
ขั้นที่ 12 ประเมินผลหลักสูตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น