ทฤษฎีหลักสูตร
แนวคิด รูปแบบ ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรของนักวิชาการไทยและต่างประเทศ
แนวคิดทฤษฎีหลักสูตร
1. ทฤษฎีจอห์นสัน (Johnson’s
Theory)
จอห์นสัน (Johnson,
1967: 130) นิยามหลักสูตรเป็นความตั้งใจเพื่อให้ได้ผลการเรียนรู้
โดยผลการเรียนรู้นี้เป็นผลสูงสุดที่เป็นไปได้ที่เป็นความแตกต่างระหว่างทฤษฎีที่เกี่ยวกับหลักสูตรที่เป็นแผนและทฤษฎีที่เป็นวิถีทางด้วยแผนที่สร้างขึ้นใช้โดยทั่วไป
นักหลักสูตรต้องทำความเข้าใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและสร้างแนวทางรับรองการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
2. ทฤษฎีวอล์คเกอร์ (Decker
Walker)
วอร์คเกอร์ได้ให้แนวคิดกับนักหลักสูตรด้วยคำถาม 5 ข้อคือ
1) อะไรคือลักษณะเด่นของหลักสูตร
2) อะไรคือผลที่ตามมาจากการใช้หลักสูตรต่อบุคคลและสังคม
3) อะไรคือสิ่งที่คงที่และเปลี่ยนแปลงของหลักสูตร
4) อะไรคือสิ่งที่คนทั่วไปควรปรับปรุงหรือเพิ่มคุณค่า
5) อะไรคือสิ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบหลักสูตรเพื่อบรรลุจุดหมายของหลักสูตร
3. ทฤษฎีของแมคโดนัลด์ (Macdonald)
แมคโดนัลด์นิยามหลักสูตรเป็นระบบสังคมที่สร้างแผนในการจัดการเรียนการสอน
โดยมุ่งการสอนแบบเป็นทางการ (Formal Teaching) และการเรียนรู้ในห้องเรียน
(Learning take place) ซึ่งครูผู้สอนจะช่วยเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนด้วย
การสร้างทฤษฎีหลักสูตร
1. วิธีการแบบอุปนัย
เก็บรวบรวมข้อมูลและสรุปข้อเท็จจริงจากการแสวงหาความรู้ มีการวิจัย สมมติฐาน
ทดสอบสมมติฐานและการยืนยันข้อมูล
2. วิธีแบบนิรนัย
สรุปความความจริงจากหลักเกณฑ์ เหตุผลหรือข้อสมมติฐานที่เป็นจริง
เป็นการสร้างความสัมพันธ์เชิงเหตุผล
การพัฒนาหลักสูตร
ทาบา (Taba 1962:
454) กล่าวว่า การพัฒนาหลักสูตรหมายถึง
การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงหลักสูตรเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในด้านต่างๆ
ได้แก่ การตั้งจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2525:
10) กล่าวว่า
การพัฒนาหลักสูตรคือการวางโครงการที่จะช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
หรือการพัฒนาหลักสูตรและการสอนคือระบบโครงสร้างการจัดโปรงแกรมการสอน
โดยกำหนดจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ การปรับปรุงตำรา แบบเรียน คู่มือครู
สื่อการเรียนต่างๆ การวัดและประเมินผล ใช้หลักสูตรปรับปรุงแก้ไข
อบรมครูให้ใช้หลักสูตรเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการพัฒนาหลักสูตร
โดยสรุปแล้ว การพัฒนาหลักสูตร หมายถึง
กระบวนการสร้างและทดสอบคุณภาพของหลักสูตรที่นำวิธีการเชิงระบบมาประยุกต์ใช้
โดยเฉพาะการนำกระบวนการวิจัยและพัฒนามาใช้ในการสร้างและทดสอบคุณภาพหลักสูตร
แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร
1. แบบจำลองของโอลิวา
โอลิวาเป็นคนแรกที่ใช้คำว่าแบบจำลอง (Model)
ในการพัฒนาหลักสูตร
ประการสำคัญของแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรต้องทำหน้าที่คือ
ให้คำแนะนำการติดตามของระบบและให้กรอบแนวคิดในการอธิบายองค์ประกอบของกระบวนการในการปรับปรุงหลักสูตร
ซึ่งแบบจำลองของหลักสูตรต้องแสดงองค์ประกอบต่างๆดังนี้
1) องค์ประกอบหลักของกระบวนการ
2) การปฏิบัติที่ชัดเจน
3) ความสัมพันธ์ระหว่างหลักสูตรและการสอน
4) จุดหมายเฉพาะระหว่างหลักสูตรและการสอน
5) การแสดงความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง
6) ความสัมพันธ์เป็นลำดับขั้นตอน
7) ให้ข้อมูลย้อนกลับ
8) เริ่มต้นในจุดใดก็ได้ในวงจร
9) ความเป็นเหตุผล
10) ให้ความคิดที่เรียบง่าย
11) แสดงความสัมพันธ์ในรูปแบบไดอะแกรม
แผนภาพ
2. แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของไทเลอร์
แบบจำลองดังกล่าวถือว่าเป็นต้นแบบของการพัฒนาหลักสูตร
กระบวนการของหลักสูตรทำได้ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลเชื่อมโยง
สังเคราะห์ข้อมูลและกลั่นกรองด้วยปรัชญาการศึกษาและจิตวิทยาการเรียนรู้
โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1) การวางแผนหลักสูตร (Curriculum
Planning)
- มีการเก็บข้อมูลจากแหล่งต่างๆได้แก่
ผู้เรียน
สังคมในโรงเรียนและเนื้อหาสาระวิชาเพื่อนำมาวิเคราะห์เป็นวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
(ฉบับร่าง)
- เมื่อได้วัตถุประสงค์
(ฉบับร่าง) แล้วนั้น จึงนำมาวิเคราะห์อีกขั้นหนึ่งด้วยปรัชญาการศึกษาของโรงเรียนและจิตวิทยาการเรียนรู้
2) การออกแบบหลักสูตร (Curriculum
Design)
- เลือกประสบการณ์เรียนรู้
- การจัดการประสบการณ์การเรียนรู้
3) การประเมินหลักสูตร (Curriculum
Evaluation)
สิ่งที่ใช้ในการพิจารณาสร้างแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร
1. ปรัชญาสังคมและปรัชญาการศึกษา
2. พื้นฐานด้านจิตวิทยา
3. การเลือกประสบการณ์เรียนรู้
การจัดระบบโครงสร้างการเรียนรู้และการประเมินผล
3. แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของทาบา
(Taba)
ทาบาได้กล่าวถึงกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่ตอบสนองความต้องการของผู้เรียนตามความเชื่อที่ว่าผู้เรียนมีพื้นฐานแตกต่างกันและหลักสูตรต้องออกแบบโดยครูผู้สอนมากกว่าผู้มีอำนาจคนอื่นๆ
ครูเป็นผู้สร้างสรรค์หน่วยการเรียนมากกว่าการออกแบบ
โดยกำหนดกระบวนการพัฒนาหลักสูตรไว้ 7
ขั้นตอน ดังนี้
1) วินิจฉัยความต้องการ
สำรวจสภาพปัญหา ความต้องการ ความจำเป็นต่างๆของสังคมและผู้เรียน
2) กำหนดจุดมุ่งหมาย
หลังจากได้วินิจฉัยความต้องการของสังคมและผู้เรียนแล้วจะกำหนดจุดมุ่งหมายที่ต้องการให้ชัดเจน
3) คัดเลือกเนื้อหาสาระ
จุดมุ่งหมายที่กำหนด จะช่วยในการเลือกเนื้อหาสาระให้สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย
วัยและความสามารถของผู้เรียน
โดยเนื้อหาต้องมีความเชื่อถือได้และสำคัญต่อการเรียนรู้
4) จัดเนื้อหาสาระ
เนื้อหาสาระที่เลือกได้ ยังต้องจัดโดยคำนึงถึงความต่อเนื่อง
และความยากง่ายของเนื้อหา วุฒิภาวะ ความสามารถ และความสนใจของผู้เรียน
5) คัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้
ครูผู้สอนหรือผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องคัดเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา
และจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
6) จัดประสบการณ์การเรียนรู้
ประสบการณ์การเรียนรู้ควรจัดโดยคำนึงถึงเนื้อหาสาระและความต่อเนื่อง
7)
กำหนดสิ่งที่จะประเมินและวิธีการประเมินผล
ตัดสินใจว่าจะต้องประเมินอะไรเพื่อตรวจสอบผลว่าบรรลุตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้หรือไม่
และกำหนดด้วยว่าจะใช้วิธีประเมินผลอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไร
จากขั้นตอน 7 ขั้นตอนข้างต้นนั้น อาจจัดรวมเป็นหมวดหมู่ได้ดังต่อไปนี้
1) การวางแผนหลักสูตร
(Curriculum Planning) ได้แก่
- การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น
- การกำหนดวัตถุประสงค์
2) การออกแบบหลักสูตร
(Curriculum Design) ได้แก่
- การเลือกเนื้อหาสาระ
- การจัดการเกี่ยวกับเนื้อหาสาระ
3) การจัดหลักสูตร (Curriculum
Organization) ได้แก่
- การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้
- การจัดการเกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนรู้
4) การประเมินหลักสูตร
(Curriculum Evaluation)
- การตัดสินใจว่าจะประเมินอะไรและวิธีการประเมินอย่างไร
4. แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของเซเลอร์
อเล็กซานเดอร์และเลวีส
เซเลอร์ อเล็กซานเดอร์ และเลวีส (Saylor
J.G, Alexander. W.M. and Lewis Arthur J 1981: 24) นำเสนอแบบจำลองภายใต้แนวคิดของการวางแผนให้โอกาสในการเรียนรู้เพื่อการบรรลุผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาและวัตถุประสงค์
โดยมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1) จุดหมาย
วัตถุประสงค์และขอบข่ายที่ต้องการพัฒนา
เป็นการกำหนดจุดหมายสำคัญและระบุวัตถุประสงค์ของหลักสูตรที่ต้องการให้ประสบความสำเร็จ
โดยต้องพิจารณาจากตัวแปรต่างๆ เช่น ผลการศึกษา กลุ่มสังคม
ผู้เรียน ความรู้ การวิจัยทางศึกษา เป็นต้น
2) การออกแบบหลักสูตร
เป็นการสร้างโอกาสการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับขอบข่ายที่ต้องการพัฒนา ระบุวันเวลา
วิธีการในการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงรายวิชา สถาบัน สังคม
ความต้องการและความสนใจของผู้เรียน
3) การนำหลักสูตรไปใช้
เป็นการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนตามวัตถุประสงค์
โดยเลือกวิธีการสอนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุผลการเรียนรู้
4) การประเมินหลักสูตร
เป็นการตัดสินว่าโรงเรียนบรรลุจุดหมายและวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยเน้น 2 ประการคือ
การประเมินผลรวมของการใช้หลักสูตรทั้งโรงเรียนและการประเมินหลักสูตรทั้งระบบเพื่อตรวจสอบว่าหลักสูตรมีคุณภาพมากน้อยเพียงใด
5. แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรของวิชัย
วงษ์ใหญ่
วิชัย วงษ์ใหญ่ได้นำเสนอแบบจำลองการพัฒนาหลักสูตรแบบครบวงจร
(Integrated
Curriculum Development) ซึ่งประกอบไปด้วยระบบการร่างหลักสูตร
ระบบการนำหลักสูตรไปใช้และระบบการประเมินหลักสูตร
ทั้งสามระบบนี้จะสัมพันธ์ต่อเนื่องกันเพื่อให้เกิดภาพรวมที่เป็นเอกภาพของกระบวนการพัฒนาหลักสูตรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกันและมีความสำคัญเท่าเทียมกัน
วงจรการพัฒนาหลักสูตรจะไม่ได้เน้นที่ระบบใดระบบหนึ่ง
แต่จะให้ความสำคัญเท่าๆกันและเป็นการพัฒนาที่ไม่มีการจบสิ้น
วิชัย วงษ์ใหญ่
ได้สรุปแนวคิดและขั้นตอนกระบวนการพัฒนาหลักสูตร โดยรูปแบบการพัฒนาหลักสูตรจะเป็นฐานคิดในการพัฒนาหลักสูตรตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2552 ดังภาพ
ขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตร
1. กำหนดจุดมุ่งหมาย
หลักการและโครงสร้าง ออกแบบหลักสูตรขึ้นมา โดยปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ
2. ยกร่างเนื้อหาสาระแต่ละกลุ่มสาระ
ประสบการณ์ หน่วยการเรียน กำหนดผลการเรียนรู้
จุดประสงค์เชิงพฤติกรรมและการเรียนรู้ วางแผนการสอน บันทึกการสอน สื่อการสอน
กิจกรรมการเรียนการสอนทั้งรายกลุ่มและรายบุคคล
3. ทดลองใช้หลักสูตรในสถานศึกษานำร่องและแก้ไขบกพร่อง
4. อบรมผู้สอน
ผู้บริหารทุกระดับและบุคลากรทางการศึกษา
ให้เข้าใจหลักสูตรใหม่เพื่อนำหลักสูตรไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสม
รวมทั้งประชาสัมพันธ์หลักสูตรให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ
5. ปฏิบัติการสอน
ด้วยการนำหลักสูตรไปสอนในสถานศึกษาก่อนประกาศใช้หลักสูตร
6. แบบจำลองการพัฒนาหลักสูตร
SU Model
กระบวนการพัฒนาหลักสูตรจะประกอบไปด้วยขั้นตอนในการจัดทำหลักสูตรดังนี้
1) การวางแผนหลักสูตร (Curriculum
Planning) อาศัยแนวคิดจากคำถามของไทเลอร์ข้อที่หนึ่งคือ
มีจุดมุ่งหมายอะไรบ้างในการศึกษาที่โรงเรียนต้องแสวงหา
2) การออกแบบหลักสูตร (Curriculum
Design) อาศัยแนวคิดจากคำถามของไทเลอร์ข้อที่สองคือมีประสบการณ์ทางการศึกษาอะไรบ้างที่โรงเรียนควรจัดขึ้นเพื่อช่วยให้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
3) การจัดหลักสูตร (Curriculum
Organization) อาศัยแนวคิดจากคำถามของไทเลอร์ข้อที่สามคือ
จะจัดประสบการณ์ทางการศึกษาอย่างไร จึงจะทำให้การสอนมีประสิทธิภาพ
4) การประเมินหลักสูตร (Curriculum
Evaluation) อาศัยแนวคิดจากคำถามของไทเลอร์ข้อที่สี่คือจะประเมินผลประสิทธิภาพของประสบการณ์ในการเรียนอย่างไร
จึงจะตัดสินได้ว่าบรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้
ลักษณะของแบบจำลอง SU
Model
1) มุ่งเน้นให้การศึกษา 3 ส่วนคือ จริยศึกษา พุทธิศึกษาและพลศึกษา
2) เน้นการเรียนรู้แบบเก่ง
ดี มีสุข โดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
3) เป็นหลักสูตรที่มุ่งให้ความรู้
(Knowledge) พัฒนาผู้เรียน (Leaner) และพัฒนาสังคม
(Society)
4) ใช้พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร
3 ด้านคือ ปรัชญา จิตวิทยาและสังคม
5) ปรัชญาที่เกี่ยวข้องคือ
ปรัชาญาสารัตถนิยม (Essentialism) ปรัชญานิรันตรนิยม (Perenialism)
ปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) ปรัชญาปฎิรูปนิยม
(Reconstructionism)
สงัด อุทรานันท์
มีความเห็นว่าการพัฒนาหลักสูตรมีความครอบคลุมถึงการร่างหลักสูตรขึ้นมาใหม่
และการปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นด้วย การใช้หลักสูตรและการประเมินหลักสูตรนั้นเป็นกระบวนการอันหนึ่งของการพัฒนาหลักสูตร
โดยได้จัดลำดับขั้นตอนของการพัฒนาหลักสูตรไว้ดังนี้ คือ
1.
การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน
2.
การกำหนดจุดมุ่งหมาย
3.
การคัดเลือกและจัดเนื้อหาสาระ
4.
การกำหนดมาตรการวัดและการประเมินผล
5.
การนำหลักสูตรไปใช้
6.
การประเมินผลการใช้หลักสูตร
7.
การปรับปรุงแก้ไขหลักสูตร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น