บทบาทในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาประกอบไปด้วยผู้เกี่ยวข้องดังนี้
1.
ผู้บริหารสถานศึกษา
ผู้บริหารสถานศึกษาที่ตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษา
เข้าใจบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารอย่างถ่องแท้และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังแบบต่อเนื่อง
จะช่วยให้การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาประสบผลสำเร็จได้อย่างมีคุณภาพผู้บริหารสถานศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาต้องปรับเปลี่ยนบทบาทจากการสั่งการมาเป็นผู้ร่วม
คือ ร่วมวางแผนและร่วมปฏิบัติ ผู้บริหารสถานศึกษาจึงควรมีบทบาทดังนี้
1.1
จัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษาเพื่อใช้ในการดำเนินการจัดการศึกษา
1.2
เป็นผู้นำในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษาโดยร่วมประสานกับบุคลากรทุกฝ่าย
เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน
ตลอดจนสาระตามหลักสูตรสถานศึกษา
1.3 ประชาสัมพันธ์หลักสูตรสถานศึกษา
1.4
สนับสนุนให้บุคลากรทุกฝ่ายของสถานศึกษามีความรู้และความสามารถในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา
รวมทั้งพัฒนาบุคลากรให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
1.5 มีการนิเทศภายใน เพื่อนิเทศ กำกับ
ติดตามการใช้หลักสูตรสถานศึกษาอย่างมีระบบ
1.6
จัดให้มีการประเมินผลการใช้หลักสูตรสถานศึกษาเพื่อปรับปรุง
พัฒนาสาระของหลักสูตรสถานศึกษาให้ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
ชุมชนและท้องถิ่น
2. ครูผู้สอน
ครูผู้สอนมีบทบาทโดยตรงในการร่วมพัฒนาหลักสูตร จัดการเรียนรู้
ครูในยุคปฏิรูปการศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนจากการเป็นผู้สอน
เป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน
โดยการชี้แนวทางการนำความรู้จากแหล่งต่างๆ มาใช้ประโยชน์ กล่าวคือ
ทำให้ผู้เรียนรู้วิธีการเข้าถึงแหล่งข้อมูล มีทักษะในการใช้สื่อ
ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการสืบค้นข้อมูลมาใช้ได้สะดวก
วิธีการที่ครูสามารถทำได้ในฐานะผู้เอื้ออำนวยความสะดวกที่ดี เช่น
ให้โอกาสผู้เรียนเข้าไปใช้บริการสืบค้นข้อมูลจากห้องสมุดของโรงเรียน
บอกแหล่งที่มาของข้อมูลให้ผู้เรียนที่สนใจสามารถสืบค้นได้จากซีดีรอม
หรือจากโฮมเพจในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
นอกจากนี้
ครูยังต้องปรับบทบาทจากการเป็นผู้ป้อนข้อมูล เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา
โดยครูจะต้องตระหนักเสมอว่า ตนเองไม่ใช่ผู้กำหนดความรู้
แต่เป็นผู้สอนแก่นความรู้ในวิชาที่สอน และแนะวิธีการคิด
ให้กรอบในการวิเคราะห์เนื้อหาวิชาการ แนะนำการพิจารณาข้อมูลที่จะเลือกนำมาใช้
แนะนำเรื่อง ทั่วๆ ไปที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของผู้เรียนด้วย เช่น
ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ การพัฒนาบุคลิกภาพ มารยาท
การป้องกันตนเองจากภัยอันตรายต่าง ๆ เป็นต้น
ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำ
ปรึกษาแก่นักเรียนและเป็นผู้เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ก็ต่อเมื่อครูเป็นผู้ที่เรียนรู้มาก่อน
นั่นหมายความว่า ครูจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กระตือรือร้นในการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
เป็นคนช่างสังเกตและคิดแตกฉานกับข้อมูลและความรู้ที่ผ่านเข้ามาในสมองด้วยการตั้งคำถามและหาทางพิสูจน์เรื่องเหล่านี้ให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
ในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
ครูไม่เพียงแต่จะมีบทบาทหน้าที่ในการจัดการเรียนรู้เท่านั้น
แต่ครูยังต้องมีบทบาทในการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ดังต่อไปนี้ (กรมวิชาการ 2543 :
16)
2.1
ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานจนเข้าใจกระจ่าง
2.2 ศึกษาหลักการ
วิธีการพัฒนาหลักสูตรระดับสถานศึกษา
2.3 ร่วมวางแผน และร่วมพัฒนาหลักสูตรระดับสถานศึกษา
2.4
ตรวจสอบความสอดคล้องสัมพันธ์กันของสาระที่จัดทำขึ้นตามสภาพปัญหา/ความต้องการของชุมชน
และภูมิปัญญาท้องถิ่น
กับมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มวิชาและมาตรฐานหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2.5
วางแผนการจัดการเรียนการสอนตามขอบข่ายเนื้อหาสาระ มาตรฐาน สัดส่วนของเวลา
และหน่วยการเรียนรู้
2.6
นำหลักสูตรไปปฏิบัติให้เกิดผลในห้องเรียน
โดยเลือกใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายสอดคล้องกับธรรมชาติของสาระการเรียนรู้และเหมาะสมกับผู้เรียน
2.7
วางแผนและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนให้ได้ข้อมูลที่แสดงความสามารถที่แท้จริงของผู้เรียน
ประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละช่วงนั้น
และนำผลการประเมินมาพัฒนาผู้เรียนต่อไป
2.8
ร่วมประเมินผลการใช้หลักสูตรกับสถานศึกษา
3. ผู้เรียน
เนื่องจากผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการกำหนดจุดหมายของการพัฒนาหลักสูตร
หลักสูตรทุกหลักสูตรพัฒนาขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้เรียนโดยตรงผู้เรียนจึงควรมีส่วนแสดงความคิดเห็นและให้ข้อมูลที่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของผู้เรียนให้ผู้รับผิดชอบพัฒนาหลักสูตรได้ทราบและเนื่องจากผู้เรียนเป็นผลผลิตของการจัดการศึกษาโดยตรง
ผู้เรียนจะมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์คือเป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุขได้
ผู้เรียนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของตนจากการเป็นผู้รับมาเป็นผู้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง มีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความถนัด
ความสนใจ และความสามารถของตนเอง
บทบาทหน้าที่ของผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีดังนี้
3.1
มีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครองและครู
วางแผนการเรียนรู้ของตนเองตามความถนัด ความสนใจและความสามารถของตนเอง
3.2 มีความรับผิดชอบ
ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และบริหารจัดการเรียนรู้ของตนเองให้มีคุณภาพ
3.3 ปฏิบัติตนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้
รู้วิธีแสวงหาความรู้ พร้อมทั้งสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
3.4
มีการประเมินและพัฒนาตนเองให้ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง
3.5
มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับครูและเพื่อนโดยช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน
4. ผู้ปกครอง
การปฏิรูปการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542
ได้เปิดโอกาสให้บิดามารดา
ผู้ปกครองและบุคคลในชุมชนทุกฝ่ายร่วมมือกับสถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ (มาตรา 24) ฉะนั้น
บิดามารดาและผู้ปกครองจะต้องปรับเปลี่ยนความคิดในการฝากบุตรหลานไว้ในความดูแลของครูมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน
โดยผู้ปกครองควรจะมีบทบาท ดังนี้
4.1
กำหนดแผนการเรียนรู้ของผู้เรียนร่วมกับครูและผู้เรียน
4.2
มีส่วนร่วมในการกำหนดสาระของหลักสูตรสถานศึกษา
และกำหนดแผนพัฒนาสถานศึกษาหรือธรรมนูญสถานศึกษา
4.3
ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ
4.4 อบรมเลี้ยงดู เอาใจใส่
ให้ความรักความอบอุ่น ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการด้านต่างๆ ของผู้เรียน
4.5
สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษาตามความเหมาะสม
4.6 ร่วมมือกับครูและผู้เกี่ยวข้อง
ประสานงาน ป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของผู้เรียน
4.7
พัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีความรู้คู่คุณธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี
เพื่อนำครอบครัวไปสู่สถาบันแห่งการเรียนรู้
4.8
มีส่วนร่วมในการประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนและการประเมินการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
5. ชุมชน
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.
2542
ได้เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดทำหลักสูตรและบริหารจัดการให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่กลมกลืนกับท้องถิ่น
และร่วมกับสถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยมีบทบาทดังนี้
5.1
มีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษาหรือธรรมนูญของสถานศึกษา
5.2
มีส่วนร่วมในการกำหนดสาระของหลักสูตรสถานศึกษา
เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสังคม
5.3 เป็นแหล่งการเรียนรู้
สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จากสถานการณ์จริง
5.4
ให้การสนับสนุนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของสถานศึกษา
5.5
มีส่วนร่วมในการตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาของสถานศึกษา
และให้ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา
การมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาจะประสบผลสำเร็จได้ด้วยดี
จะต้องได้รับความร่วมมือและการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานจากบุคลากรทุกฝ่าย
ทั้งในสถานศึกษาและนอกสถานศึกษาไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครู นักเรียน
บิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลหรือหน่วยงานในชุมชน ได้แก่ องค์กรชุมชน
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา
สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.
2542 ได้กำหนดให้ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาในลักษณะต่าง ๆ
หลายลักษณะ โดยถือว่าการจัดการศึกษาเป็นภาระหน้าที่สำหรับทุกคน
การมีส่วนร่วมของประชาชนหรือบุคลากรทุกฝ่ายอาจดำเนินการได้หลายทาง ได้แก่
1. การมีส่วนร่วมเป็นกรรมการ
ผู้รับผิดชอบในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนที่มีสิทธิเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการเกี่ยวกับการศึกษา
ให้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน เพราะการเป็นกรรมการไม่ใช่เรื่องของอภิสิทธิ์ส่วนตัว
แต่เป็นภาระเพื่อประโยชน์ส่วนรวม กรรมการมีหน้าที่กำกับ ดูแล
ให้ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และบุคลากรทางการศึกษาทำหน้าที่ของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน
ดังนั้น
กรรมการจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอน
การบริหารและการจัดการศึกษา ระบบการประกันคุณภาพ การจัดทำหลักสูตร
การประเมินคุณภาพการศึกษา
การระดมทรัพยากรการเงินและบุคคลเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษา เป็นต้น
เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเป็นกรรมการได้เข้าใจบทบาทหน้าที่อย่างจริงจัง
สถานศึกษาควรจัดทำคู่มือการเป็นกรรมการและนำเสนอผ่านสื่อ การปฐมนิเทศ
หรือการฝึกอบรมสำหรับกรรมการที่ยังขาดประสบการณ์
รวมทั้งมีการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของกรรมการด้วย
2. การร่วมจัดการศึกษา
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2542 มาตรา 57
กำหนดให้หน่วยงานการศึกษาระดมทรัพยากรบุคคลในชุมชนให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
โดยนำประสบการณ์ ความรอบรู้ ความชำนาญ และภูมิปัญญาท้องถิ่นของบุคคลมาใช้
เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการศึกษาและยกย่องเชิดชูผู้ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา
3.
การร่วมสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา
บุคคล ครอบครัว
ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ
และสถาบันสังคมอื่นจะร่วมสนับสนุนการศึกษาได้โดยร่วมกันให้ความรู้หรือประสบการณ์ในฐานะทรัพยากรบุคคลหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
หรือสนับสนุนโดยการบริจาคทรัพย์สิน หรือทรัพยากรอื่นให้แก่สถานศึกษา
รวมทั้งการมีส่วนร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาตามความเหมาะสมและความจำเป็นด้วย
4. การร่วมกำกับดูแล
เนื่องจากการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
พ.ศ. 2542 ได้กำหนดเงื่อนไขใหม่ๆ เช่น
ครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องทำหน้าที่ให้เหมาะสม
สอดคล้องกับจรรยาบรรณและมาตรฐานของวิชาชีพ สถานศึกษาต้องมีระบบประกันคุณภาพ
เป็นต้น ดังนั้นประชาชนจึงควรมีส่วนร่วมเรียกร้องคุณภาพทางการศึกษาที่เป็นมาตรฐาน
ทักท้วง ตักเตือน หรือให้ข้อมูลเกี่ยวกับครูและบุคลากรทางการศึกษา
ร่วมประเมินคุณภาพของบุคคลและสถานศึกษา
รวมทั้งร่วมยกย่องเชิดชูเกียรติครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมด้วย
หากบุคลากรในสถานศึกษาทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในการบริหารจัดการหลักสูตรสถานศึกษาและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างเต็มที่
และเปิดโอกาสให้บุคคลและหน่วยงานนอกสถานศึกษาได้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
ทั้งในฐานะกรรมการสถานศึกษา วิทยากรหรือปราชญ์ชาวบ้าน
หรือในฐานะผู้ให้การสนับสนุนทรัพยากรทางการศึกษาและฐานะผู้ประเมินคุณภาพของสถานศึกษาแล้ว
ย่อมเชื่อมั่นได้ว่าสถานศึกษานั้นจะประสบผลสำเร็จในการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษาและการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษา
สภาพปัญหาของการพัฒนาหลักสูตรและการใช้หลักสูตรสถานศึกษา
อิทธิพลหรือความกดดันต่างๆ
ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรนั้นมีอยู่หลายสาเหตุด้วยกันแต่ส่วนใหญ่แล้วการพัฒนาหลักสูตรจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมและสภาพแวดล้อมของสังคมในปัจจุบันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมระบบประชาธิปไตย
ซึ่งทำให้แนวคิดของเด็กในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปหรือแตกต่างจากแนวความคิดของเด็กในสมัยก่อนซึ่งเป็นผลต่อเนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ในปัจจุบันด้วย
นอกจากนี้สภาพของสังคม ภาวะทางเศรษฐกิจ การแข่งขัน
การดูแลเอาใจใส่เด็กในปัจจุบันได้ผิดแผกไปจากเดิมมาก
บิดามารดาต้องขวนขวายในการประกอบอาชีพขาดการดูแลเอาใจใส่บุตรหลานของตนและมอบความรับผิดชอบเหล่านี้ไปให้โรงเรียนตั้งแต่เด็กยังอยู่ในวัยเด็กเล็ก
ดังนั้นเด็กจึงขาดความรักความอบอุ่นและการเอาใจใส่
ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมในอนาคตได้อาจจะกล่าวได้ว่าความจำเป็นในการพัฒนาหลักสูตรนั้นเกิดมาจากสาเหตุหลายประการด้วยกันคือ
1. การเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคม
ในการดำเนินงานพัฒนาหลักสูตรนั้นผู้จัดทำจำเป็นจะต้องวิเคราะห์สภาพของสังคมเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ของสังคมวัฒนธรรมและปรัชญาในการดำเนินชีวิตของผู้ที่อยู่ในสังคมปัจจุบันก่อน
จากนั้นจึงจะดำเนินการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับภาวการณ์เปลี่ยนแปลงของสังคมดังกล่าวในปัจจุบัน
นอกจากนี้ก็ยังมีปัญหาสังคมที่เราได้เผชิญอยู่เกือบทุกวัน ได้แก่ปัญหาอาชญากร
ปัญหาคนยากจน ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาการเพิ่มประชากร ปัญหาภาวะทางเศรษฐกิจและอื่นๆ
เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งผู้จัดทำหลักสูตรจำเป็นจะต้องศึกษาปัญหาต่างๆ
เหล่านี้และดำเนินการจัดทำหลักสูตรเพื่อป้องกันและช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆด้วย
ปัญหาในด้านประชากรและการอพยพของประชากรเป็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งของสังคมปัจจุบันซึ่งผู้จัดทำหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงในด้านการจัดการศึกษาเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในด้านนี้อาจจะกล่าวได้ว่า
การอพยพของประชากรจากที่แห่งหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่งมีสาเหตุสำคัญดังต่อไปนี้
1.1
การใช้เครื่องจักรกลในการทำงานแทนกำลังคนเพิ่มมากขึ้นซึ่งก่อให้เกิดภาวะของการว่างงานแก่ผู้ที่ไม่มีทักษะในการใช้เครื่องกลโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใช้แรงงาน
1.2 แรงงานของสตรีมีเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจในปัจจุบันทำให้สตรีต้องทำงานประกอบอาชีพ
และเพิ่มจำนวนมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงและแหล่งอุตสาหกรรมต่างๆ
1.3 ประชากรที่อยู่ในเมืองใหญ่ๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองหลวงประสบกับมลภาวะ (pollution) อาชญากรรม แหล่งเสื่อมโทรมต่างๆ ความยากจนทำให้ผู้มีฐานะในระดับกลางขวนขวายที่จะอพยพไปอยู่ในบริเวณชานเมืองเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นการจัดหลักสูตรจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัญหาต่างๆ
เหล่านี้รวมทั้งจะต้องศึกษาข้อมูลต่างๆ
เพื่อจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับสภาวะของแต่ละท้องถิ่นเพื่อสกัดกั้นการอพยพของประชากรและช่วยให้ประชากรในแต่ละท้องถิ่นสามารถประกอบอาชีพในท้องถิ่นของตนด้วย
รายได้ที่จะสามารถทำให้การดำเนินชีวิตอยู่ในท้องถิ่นหรือในสังคมนั้นอย่างเป็นปกติสุข
นอกจากนี้ในปัจจุบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆได้รับการพัฒนาเพิ่มมากขึ้นตลอดจนเข้ามามีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้ที่อยู่ในสังคมมากขึ้นซึ่งจะมีผลทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมเช่นเดียวกันโดยเฉพาะในสังคมเมืองหลวงซึ่งเมื่อได้พิจารณาชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรอย่างละเอียดตั้งแต่เช้าจนค่ำจะเห็นได้ว่าบุคคลที่อยู่ในเมืองหลวงมีส่วนเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างมากมายและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ
ซึ่งทำให้การดำเนินชีวิตของผู้ที่อยู่ในสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็วและสะดวกสบายมากขึ้น
การจัดทำหลักสูตรก็จำเป็นจะต้องจัดให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
2. แนวความคิดและผลงานวิจัยทางด้านจิตวิทยา
ความรู้ทางด้านจิตวิทยาเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาหลักสูตรอย่างมาก
ผู้ที่จัดทำหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงผู้เรียนในด้านต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของพัฒนาการของเด็กในด้านร่างกายจิตใจและการเรียนรู้
เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการจัดสร้างหลักสูตร
ผลงานวิจัยและความรู้ทางด้านจิตวิทยา
ซึ่งเกี่ยวข้องกับลักษณะพัฒนาการของผู้เรียน ในด้านลักษณะทั่วไปของเด็ก
การเจริญเติบโต
และความต้องการของเด็กในแต่ละวัยนั้นจะให้ประโยชน์ในด้านการจัดแผนการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กในแต่ละวัน
การจัด การเลือกเนื้อหาความรู้
และการจัดการเรียนการสอนในลักษณะของการเรียนเป็นกลุ่มหรือแบบรายบุคคล
งานด้านจิตวิทยาซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะพัฒนาการของผู้เรียนทางด้านสติปัญญาของเด็กในแต่ละวัยจะเป็นข้อมูลในด้านการจัดเนื้อหาความรู้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้
สอดคล้องกับความพร้อมและความสามารถในด้านการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละวัย
รวมทั้งจัดบทเรียนให้สอดคล้องกับลักษณะพัฒนาการทางด้านสติปัญญาของผู้เรียนด้วย
นอกจากนี้ผลงานวิจัยทางด้านจิตวิทยาซึ่งได้ศึกษาเกี่ยวกับลักษณะพัฒนาการของ
ผู้เรียนในด้านความประพฤติ (Moral) จะทำให้ผู้จัดหลักสูตรสามารถสอดแทรกเนื้อหาและจัดกิจกรรมให้แก่ผู้เรียนให้สามารถประพฤติตนและดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขด้วย
นอกจากการศึกษางานและผลของการวิจัยทางด้านจิตวิทยาในด้านต่างๆ แล้ว
ผู้จัดทำหลักสูตรยังจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับลักษณะของการเรียนรู้ของเด็กในแต่ละวัยความ
แตกต่างของเด็กในด้านสติปัญญา ภูมิหลังและความสามารถเฉพาะ สิ่งต่างๆ
เหล่านี้เป็นผลของการวิจัยด้านจิตวิทยา
ซึ่งจำเป็นต้องนำมาเป็นข้อมูลในการจัดหลักสูตรเพื่อให้หลักสูตรนั้นเหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะพัฒนาการด้านต่างๆ
ของผู้เรียนซึ่งจะทำให้การจัดการเรียนการสอนประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์ของหลักสูตรได้
3.
ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาการและบทบาทของสถาบันการศึกษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันนี้วิทยาการต่างๆได้ก้าวหน้าไปอย่างมากมาใช้ในวง
การศึกษามากขึ้นในทำนองเดียวกันก็ได้มีการนำเทคโนโลยีต่างๆทำให้การเรียนรู้ต่างๆในด้านวิชาการเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพความรู้ทางด้านวิชาการมิได้มีวงจำกัดอยู่แต่เฉพาะภายในโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ได้ดังนั้น
ในการจัดหลักสูตรจึงจำเป็นจะต้องคำนึงถึงการจัดความรู้ เนื้อหาวิชาและ
ประสบการณ์ที่เหมาะสม ทันสมัยต่อเหตุการณ์ปัจจุบันให้แก่เด็ก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพของสังคมปัจจุบัน
ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและมีความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการ
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อยู่เสมอ
ดังนั้นผู้จัดทำหลักสูตรจะต้องให้ความสนใจต่อวิทยาการ ใหม่ๆเหล่านี้
ผลของการวิจัยต่างๆการค้นพบสิ่งใหม่ๆ ตลอดจนแนวความคิดใหม่ในปัจจุบัน
โดยเลือกสรรเฉพาะสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนให้เหมาะสมกับวัยระดับความรู้และความสามารถของผู้เรียนด้วยเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้
ประสบการณ์และให้ผู้เรียนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของตนในสังคมปัจจุบันได้ด้วย
นอกจากนี้ความรู้สมัยใหม่และ ประสบการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ
ควรจะได้จัดไว้ในหลักสูตรเพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ที่ก้าวหน้าเกิดความคิดริเริ่ม
มีความคิดเห็นแบบวิทยาศาสตร์ มีความสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ
ทางวิทยาศาสตร์และทางเทคโนโลยี ในการทำงานและประกอบอาชีพในสังคมได้
4.
การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน
ประชากรในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งทำให้มีผลกระทบกระเทือนต่อเศรษฐกิจ
ด้วยการจัดการศึกษาที่ดีและเหมาะสมให้แก่ประชาชนจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศได้
อาจจะกล่าวได้ว่าการศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญอันหนึ่งซึ่งสามารถกำหนดความเจริญก้าวหน้าในทางเศรษฐกิจของประเทศได้เช่นกัน
ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้นนอกจากปัญหาในด้านการขาดแคลนทางปัจจัยการผลิตด้านวัตถุ
ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งแล้วปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ
การขาดแคลนผู้ที่มีความรู้ความสามารถทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพในสาขาต่างๆ
การขาดแคลนทางด้าน
วัตถุนั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มผลผลิตแต่การขาดแคลนกำลังคนในวิชาการและวิชาชีพในทุกระดับนั้น
จำเป็นจะต้องอาศัยการจัดการศึกษาและการวางโครงการที่แน่นอนเพื่อทำการผลิตคนในทุกระดับให้มีปริมาณและคุณภาพที่ได้สัดส่วนกันตรงตามความต้องการในระบบเศรษฐกิจและสังคมประเทศ
ดังนั้นในการจัดทำหลักสูตรปัญหาในด้านเศรษฐกิจจึงจำเป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้จัดทำหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงและจัดทำหลักสูตรให้เหมาะสมกับกำลังคนที่ชาติต้องการทั้ง
3 ระดับ คือ
1)
ระดับผู้เชี่ยวชาญทางวิชาการแขนงต่างๆ
2) ระดับช่างฝีมือ
3) ระดับกรรมกร
โดยกำหนดหลักสูตรให้ สอดคล้องกับนโยบายทางเศรษฐกิจและการปกครองของประเทศ
จัดโปรแกรมการเรียนการสอน เตรียมครูผู้สอน
โดยการจัดอบรมครูให้มีความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร เนื้อหา วิชาการใหม่ๆ การ
เรียนการสอนที่ทันสมัยเพื่อที่ครูเหล่านั้นจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนากำลังคน
และสามารถ ผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพให้เพียงพอกับความต้องการของสังคมที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบันและสามารถนำกำลังคนที่ผลิตออกมาแล้วไปปฏิบัติงานได้ผลตามความต้องการอย่างแท้จริง
(ชัยยงค์ พรหมวงศ์ และประดินันท์ อุปรมัย, 2542,
หน้า 237-240)
ที่มา
https://sites.google.com/site/orathaieducation/hlaksutr-laea-kar-cadkar-reiyn-ru/kar-phathna-hlaksutr-sthan-suksa
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น